ผู้เผยแพร่แอสเสท

รายงานกิจกรรม

การเสวนาของสื่อ ครั้งที่ 2 ในหัวข้อสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลังโควิด 19

ของ ธสุธิดา เทศทอง

รายงานผลการจัดกิจกรรมเสวนาครั้งที่สองของ Bangkok Tribune โดยความร่วมมือของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ สำนักงานประเทศไทย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน 2563 สำนักข่าว Bangkok Tribune โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ได้จัดการเสวนาของสื่อต่อเนื่องเป็นครั้งที่สอง ในหัวข้อ “สภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลังโควิด 19 - ป่าและสภาพภูมิอากาศของเรา” โดยการเสวนาครั้งนี้จัดคู่ขนานไปกับการถ่ายทอดสดออนไลน์ผ่านทาง Facebook Live และมุ่งหมายให้เป็นพื้นที่สำหรับผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่หน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคม สื่อและผู้สนใจทั่วไปได้แลกเปลี่ยนการคาดการณ์ปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมภายหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้รับแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศเข้าสู่แผนการพัฒนาประเทศ

ผู้เผยแพร่แอสเสท

แชร์หน้านี้

การเสวนาในช่วงแรกเป็นการนำเสนอภาพรวมของสภาพภูมิอากาศก่อนและระหว่างช่วงเวลาการแพร่ระบาด โดย ดร. กลย์วัฒน์ สาขากร จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยกล่าวถึงผลของช่วงเวลาการระบาด ที่อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในอีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม ในแง่การรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น ตั้งแต่ก่อนมีการระบาดของไวรัสโควิด 19 ประเทศไทยได้มีถ้อยแถลงต่อองค์การสหประชาชาติว่าการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของประเทศ ดังนั้น จึงเห็นว่าแนวทางของประเทศภายหลังโควิด ตลอดจนแนวทางต่อวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030)นั้น ประเทศไทยก็จะยังคงแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมไว้เช่นเดิม เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐและสังคมโดยรวมต้องมาพิจารณาร่วมกันว่าจะมุ่งเน้นความสำคัญไปที่มิติหรือรายละเอียดใดก่อน เพื่อตอบสนองต่อผลกระทบ และเหตุการณ์หลังการระบาดของไวรัสโคโรน่า ดร. กลย์วัฒน์ยังเห็นว่า ภายหลังโควิด รัฐควรมุ่งไปที่การบรรลุซึ่งผลประโยชน์ร่วมของทั้งสังคมและควรควบรวมแผนการปรับตัวและการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปอยู่ในแผนการฟื้นฟูด้วย อีกทั้งยังกล่าวถึง “แผนการฟื้นฟูสีเขียว” ที่มีตัวอย่าง อาทิ การบังคับใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ต่อการใช้พื้นที่สีเขียว การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสีเขียวเพื่อพลังงานหมุนเวียนและการจัดการของเสีย การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน การมีมาตรการควบคุมเพื่อสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น โดยการใช้แผนการฟื้นฟูสีเขียวนี้จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพในองค์รวม บรรลุถึงซึ่งการมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และเป็นสังคมที่มีความทนทานและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ยกตัวอย่างเช่น ภาคการเกษตรและการท่องเที่ยวจะได้รับประโยชน์จากแผนการฟื้นฟูสีเขียวด้วยการมีแนวทางการดำเนินงานที่ยั่งยืน

 

ในช่วงของการเสวนาแลกเปลี่ยน ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานที่ภาครัฐได้ดำเนินการมา โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนผ่านวิธีการต่าง ๆ อาทิ ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำและการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยกรรมวิธีสีเขียว การลดระเบียบข้อบังคับเพื่อให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในบ้านเรือนได้ การให้ความรู้ประชาชนผ่านอำนาจละมุน (Soft Power) เช่น งานศิลปะ เป็นต้น ดร.บัณฑูรยังกล่าวถึงผลของไวรัสโคโรน่าที่อาจทำให้โลกของเรามุ่งไปสู่ระเบียบโลกใหม่ หรืออาจจะยังดำเนินไปในแบบเดิมก็เป็นได้ แต่ไม่ว่าโลกจะเดินไปในทิศทางใด สาธารณชนก็ควรจับตาว่าผู้มีอำนาจนั้นได้คำนึงและรับเอามิติด้านสิ่งแวดล้อมและการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปอยู่ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ และสำหรับประเทศไทยนั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติควรเป็นผู้นำในประเด็นดังกล่าว เพื่อนำพาประเทศให้เกิดการเปลี่ยน แปลงเชิงโครงสร้าง ซึ่งหากเป็นไปได้ ประเทศก็จะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอย วิกฤตการณ์ทางสุขภาพและประเด็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมได้พร้อม ๆ กัน

 

ด้านคุณธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้นำเสนอมุมมองจากฝั่งภาคประชาสังคม กล่าวคือ ชี้ให้เห็นว่าก่อนช่วงเวลาการระบาดของไวรัส เราต่างก็ได้เห็นคนรุ่นใหม่ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงคนไทยด้วย แต่กลับมองว่าเราไม่น่าเห็นข้อแตกต่างหรือพัฒนาการที่ชัดเจนระหว่างเหตุการณ์ก่อนและหลังโควิด เพราะจวบจนปัจจุบัน ประเด็นการพัฒนาและประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกันอยู่เสมอ และบ่อยครั้งที่ต้องเลือกเพียงทางใดทางหนึ่ง อาทิ ยังมีการถมทะเล และยังมีแผนการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล ทั้ง ๆ ที่ภาครัฐเองก็รับรองเป้าหมายเพื่อสิ่งแวดล้อม คุณธาราเห็นว่านโยบายสาธารณะนั้นควรเป็นสิ่งที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ให้กับทั้งสังคม ไม่ใช่แค่กลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ประเทศไทยยังมีปัญหาการไม่สอดประสานกันในการดำเนินนโยบาย ตลอดจนการทำงานที่ไม่สอดคล้องกันในแต่ละภาคส่วน ทำให้แผนการฟื้นฟูสีเขียวและนโยบายคาร์บอนต่ำนั้นไม่มีแนวทางที่ชัดเจน นอกจากนี้ คุณธารายังเห็นว่าประเทศควรจะมีชุมชนนโยบาย เช่น สถาบันต่าง ๆ ที่เป็นคลังสมอง ช่วยกันคิด และสร้างพื้นที่ถกเถียงแลกเปลี่ยน และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตลอดจนต้องสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันและกันในหมู่ประชาชน

 

สามารถรับชมคลิปไฮไลท์งานได้ที่นี่

 

ในด้านสื่อและการสื่อสาร คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักทำสารคดีและผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ ได้แลกเปลี่ยนทัศนะว่า การลดลงของการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์นั้นไม่ได้เกิดจากการที่ผู้คนตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เกิดขึ้นจากผลของการล็อคดาวน์ และไวรัสไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้องในการลดการปล่อยก๊าซ สิ่งที่เราควรมุ่งเน้นคือ ทำอย่างไรที่จะลดการปล่อยก๊าซในขณะที่ประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับความปกติที่สุด กล่าวคือ ลดการปล่อยก๊าซโดยที่คนไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างพลิกฝ่ามือ วิธีที่พอจะเป็นไปได้ก็คือ ต้องแนะนำให้คนได้ใช้นวัตกรรมสีเขียว เช่น ขนส่งมวลชนคาร์บอนต่ำ เป็นต้น คุณวรรณสิงห์ยังมองถึงประเด็นการสื่อสารว่า การนำเสนอเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสาธารณชนนั้นเป็นสิ่งที่ยาก เพราะคนไม่สามารถเห็นหรือจับต้องเป้าหมายได้ในระยะเวลาสั้น ๆ อีกทั้งความยากยังเกิดขึ้นจากการที่ประเด็นนี้ใหญ่และซับซ้อน ต้องพึ่งพาความรับผิดชอบของหลายระดับ หลายตัวแสดง ที่ขอบเขตก็ไม่ชัดเจน ทำให้การจะสื่อสารประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ยุ่งยาก ซึ่งต่างจากประเด็นการเลิกใช้พลาสติกของไทยเมื่อปีที่ผ่านมาที่มองว่าง่ายกว่า ในแง่ที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจและจับต้องได้ คุณวรรณสิงห์เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะผลักดันทั้งองคาพยพ และสื่อจะต้องใช้ทักษะของตนในการรักษากระแสสังคมและสื่อสารอย่างชาญฉลาด เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยต้องสื่อสารทั้งต่อผู้กำหนดนโยบายและต่อประชาชน

 

ช่วงสุดท้ายของเวทีเสวนาเป็นการถาม-ตอบคำถาม รวมถึงการแลกเปลี่ยนและสะท้อนความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วม ซึ่งสรุปความได้ว่าประเทศไทยควรควบรวมแนวทางการปฏิบัติที่ดีเพื่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เข้ามาเป็นนโยบายหลักของประเทศ หรือก็คือต้องดำเนินยุทธศาสตร์การผลักดันให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมแทรกซึมเข้าไปสู่ทุกมิติของการพัฒนา ซึ่งหากทำได้ดังนี้ ไม่ว่าจะมีสถานการณ์อื่นที่เร่งด่วนอย่างไร สิ่งแวดล้อมก็จะยังได้รับการพิจารณาควบคู่กัน ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ยังรวมถึงการมีแนวปฏิบัติที่ดีต่อการทำการเกษตร การอุตสาหกรรม การใช้พื้นที่ป่า การทำการเกษตรแม่นยำสูง และการมีกฎเกณฑ์ที่ลดการผูกขาด เป็นต้น และเช่นนี้ การระบาดของโควิด 19 จึงถือเป็นสัญญาณเตือนภัยสำหรับเราทุกคนที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับวิกฤตการณ์อื่นในอนาคต ตลอดจนถือเป็นโอกาสเฉพาะสำหรับสื่อที่จะนำเสนอเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวโยงกับการระบาดของเชื้อไวรัสให้สังคมได้รับรู้

ผู้เผยแพร่แอสเสท

ติดต่อทีมงาน

ธสุธิดา เทศทอง

Thasuthida Thetthong

ผู้จัดการโครงการ

Thasuthida.Thetthong@kas.de +66 (0) 2 714 1207

comment-portlet

ผู้เผยแพร่แอสเสท