รายงานกิจกรรม
ผลการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น และแนวคิดต่าง ๆ ในกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในปีที่ผ่านมา สามารถสรุปออกมาได้เป็นแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม 5 ข้อเพื่อผลสำเร็จในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป แผน 5 ข้อนั้น ได้แก่
- แผนพัฒนา 5 ปี ส่งเสริมการดำเนินการในประเด็นการอนุรักษ์ การฟื้นฟูสภาพ การพัฒนา การควบคุมดูแล และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในป่าชุมชนอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแผนนี้เบื้องต้นจะมุ่งครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชน 11 แห่งที่เข้าร่วมกิจกรรม และจะขยายผลต่อไปยังป่าชุมชนอีก 38 แห่งทั่วจังหวัดสระบุรี
- การจัดทำแค็ตตาล็อกรวบรวมข้อมูลสำคัญของป่าชุมชนเพื่อการสนับสนุนที่ตรงจุดจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องข้อมูลสำคัญเหล่านั้นจะได้แก่ แผนพัฒนา 5 ปี ความต้องการเร่งด่วนของป่าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ และโครงการการพัฒนาที่ภาคประชาสังคมเสนอต่อภาครัฐเพื่อพิจารณา
- โครงการการจับคู่ภาคเอกชนกับป่าชุมชนเพื่อให้เป็นพันธมิตรร่วมมือกันบริหารจัดการพื้นที่ป่าตามแผนพัฒนาข้างต้น โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนป่าชุมชนทั้งการให้ความรู้ การสนับสนุนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการป่าไม้
- การพัฒนาแพลตฟอร์มจับคู่ระหว่างภาคเอกชนกับป่าชุมชนเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะกระตุ้นให้บริษัทเอกชนหรือองค์กรเอกชนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่แรก ได้เข้ามาศึกษาข้อมูลและสมัครเข้าร่วมโครงการจับคู่ภาคเอกชนกับป่าชุมชนที่ยังไม่มีพันธมิตรบริหารจัดการป่า แพลตฟอร์มนี้จะช่วยสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและป่าชุมชนสระบุรีที่เข้มแข็งและกว้างขวางครอบคลุมมากขึ้น
- แผนกิจกรรมอื่น ๆ ในอนาคตซึ่งจะได้รับการออกแบบให้สนับสนุนการดำเนินงานของป่าชุมชนต่าง ๆ ในมิติที่กว้างขึ้น กล่าวคือ การส่งเสริมความรู้และสร้างการตระหนักรู้ในความสำคัญและประโยชน์ของพระราชบัญญัติป่าชุมชน (พ.ศ. 2562) การอบรมให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน การรณรงค์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การอบรมให้ความรู้เชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับประโยชน์ของการดักจับและกักเก็บคาร์บอน การสร้างแนวกันไฟ การสร้างแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าชุมชน เป็นต้น
จังหวัดสระบุรีและสำนักงานก.พ.ร. จะเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนและติดตามให้แผนข้างต้นได้ดำเนินการและเกิดผลสำเร็จต่อไปในระยะยาว นอกจากนี้ จะยังส่งเสริมให้จังหวัดอื่น ๆ ได้นำเอารูปแบบการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่โครงการนี้ได้ดำเนินการจนเกิดผลในขั้นต้น ไปใช้ในกระบวนการนโยบายในพื้นที่ของตน รวมถึงในระดับประเทศต่อไปด้วย
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรูปแผนปฏิบัติการ 5 ข้อ โดยสรุป