ผู้เผยแพร่แอสเสท

บทความเดี่ยว

หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาและความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปกับอาเซียน

โดย สริตา ปิยะวงศ์รุ่งเรือง

รายงานฉบับเต็มการเดินทางเพื่อพบปะหารือกับภาคส่วนต่างๆ ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย

รายงานฉบับเต็มการเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อพบปะหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในหลากหลายประเด็นของ ดร. ชเตฟาน เฮ็ค นายโยฮานเนส ชไตนิเกอร์ และนายกุนเธอร์ คริชเบาวม์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ผู้เผยแพร่แอสเสท

แชร์

มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประเทศไทยได้ต้อนรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี 2 ท่าน ได้แก่ คุณโยฮานเนส ชไตนิเกอร์ และ ดร. ชเตฟาน เฮ็ค ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศไทย เยอรมนี และสหภาพยุโรป ในด้านความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมนิติรัฐ รวมถึงการสนับสนุนประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและการมีส่วนร่วมของประชาชน 

 

ในโอกาสนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเยอรมนีได้เข้าพบเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ฯพณฯ ดร. แอร์นสท์ ไรเชิล และคุณมักซิมิเลียน มึลเลอร์ (เลขานุการเอกฝ่ายการเมืองและพิธีการ) เพื่อหารือหลากหลายประเด็นในปัจจุบันของประเทศไทย การพัฒนาประชาธิปไตย ความมั่นคง การค้า และสังคม ในลำดับถัดมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเยอรมนีทั้ง 2 ท่านได้เข้าพบกับผู้แทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเพื่อรับฟังข้อมูลเชิงลึกในหัวข้อต่างๆ อาทิ ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย-สหภาพยุโรป การลงนามความตกลงหุ้นส่วนและความร่วมมือที่ครอบคลุมระหว่างไทย-สหภาพยุโรป ตลอดจนโอกาสและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นจากการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thai-EU FTA) ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างมุ่งมั่นที่จะบรรลุผลสำเร็จ

 

ในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ คุณโยฮานเนส ชไตนิเกอร์ และ ดร. ชเตฟาน เฮ็ค ได้เข้าพบดร. โรลันด์ ไวน์ ผู้อำนวยการหอการค้าไทย-เยอรมันเพื่อพูดคุยหารือด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ท่ามกลางความท้าทายในระดับภูมิภาค ศักยภาพและจุดแข็งของประเทศไทยต่อการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังเผชิญกับความท้าทายจากการสร้างแรงงานที่มีทักษะเพื่อรับมือการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการรักษาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

 

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และเศรษฐกิจดิจิทัลได้เพิ่มความสำคัญขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในยุคปัจจุบัน คุณโยฮานเนส ชไตนิเกอร์ และ ดร. ชเตฟาน เฮ็ค ได้เข้าร่วมบรรยายและตอบคำถามในงานเสวนาหัวข้อ Steering the Course of Digitalization: A Thai-German Exchange on Chances and Challenges of Digital Economy ร่วมกับรศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคุณนพรัตน์ ลลิตโกมล พาร์ทเนอร์จากบริษัทติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะตัวแทนจากภาคเอกชน โดยงานเสวนาได้เน้นย้ำถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทยที่มีแนวโน้มในการขยายตัวสูง เนื่องจากมีการปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาทำให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ทความเร็วสูงเป็นเรื่องสามัญในชีวิตประจำวัน รวมถึงรัฐบาลได้มีการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านโครงการริเริ่มต่างๆ รวมถึงการสร้าง digital park เพื่อรองรับธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลนี้จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของประเทศ อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังเผชิญความท้าทายหลายๆ อย่าง เช่น กฏการกำกับดูแล พรบ. ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่เข้มงวด ตลอดจนอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในภาคเทคโนโลยีขั้นสูง และความยากลำบากในการดึงดูดการลงทุน

 

ในส่วนของเยอรมนีมีการเน้นย้ำถึงความสำคัญในประเด็นความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความสำคัญของการมีผู้ให้บริการเครือข่ายที่เป็นอิสระจากรัฐ เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่เชื่อถือได้ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในการจัดการภัยพิบัติและการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน การสนับสนุนการปรับปรุงระบบการปกป้องข้อมูลที่กระจัดกระจายโดยการรวมหน่วยงานของรัฐบาลกลางและหน่วยงานระดับรัฐต่างๆ ให้เป็นหน่วยงานระดับชาติที่ดูแลครอบคลุมด้านการปกป้องข้อมูลเพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงความต้องการในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยและแข็งแกร่ง การศึกษาที่ครอบคลุม และกรอบกฎหมายที่ยืดหยุ่นเพื่อปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล คุณชไตนิเกอร์ ในฐานะกรรมาธิการด้านการคลังแห่งรัฐสภาเยอรมนี ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความคิดริเริ่มด้านนโยบายในเยอรมนีที่มุ่งเป้าไปที่การโอบรับการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล รวมถึงความพยายามในการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในกระบวนการทางการเงิน การชำระเงิน และการพัฒนากฎระเบียบด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ อีกทั้งยังให้ความเห็นต่อความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่อาจมีผลกระทบต่อประชาธิปไตยด้วย   ทั้งนี้ คุณชไตนิเกอร์เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการกำหนดนโยบายที่สมดุลซึ่งส่งเสริมนวัตกรรม ในขณะเดียวกันก็สามารถจัดการกับข้อกังวลด้านกฎระเบียบไปพร้อมๆ กันได้ ทั้งในเยอรมนีและในระดับสหภาพยุโรป (ผู้สนใจสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มของงานเสวนาดังกล่าวเพิ่มเติมได้ที่นี่)

 

ในด้านการส่งเสริมหลักนิติรัฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเยอรมนีได้รับเกียรติให้เข้าเยี่ยมคารวะรองประธานศาลปกครองสูงสุด คุณวิษณุ วรัญญู พร้อมด้วยเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง คุณประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์ โดยได้รับฟังเรื่องความก้าวหน้าของงานศาลปกครองไทย และหารือถึงความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมนีในการพัฒนางานด้านตุลาการร่วมกัน นอกจากนี้ยังได้หารือเรื่องหลักนิติรัฐ และการพัฒนานวัตกรรมทางกระบวนการทางปกครองผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศโดยการมีส่วนร่วมของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประเทศไทย ในโอกาสนี้คุณชไตนิเกอร์ได้เข้าชมการสาธิตการพิจารณาคดีปกครองผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามของประเทศไทยในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนการบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ของประชาชน นอกจากนี้คณะผู้แทนราษฎรจากเยอรมนียังได้รับโอกาสให้เข้าเยี่ยมชมหอสมุดกฎหมายมหาชน รวมถึงพิพิธภัณฑ์ศาลปกครองด้วย

 

นอกจากนั้นแล้ว คณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเยอรมนียังได้พบปะเพื่อหารือแลกเปลี่ยนในประเด็นการสนับสนุนประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยได้เข้าเยี่ยมคารวะคุณปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานรัฐสภา คนที่ 1 และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันในหลากหลายประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมนี เช่น กิจการรัฐสภา การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน การสนับสนุนการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง บทบาทของคนรุ่นใหม่ในกระบวนการประชาธิปไตย และการพัฒนาการบังคับใช้กฏหมายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น จากนั้นคณะฯ ได้เยี่ยมชมห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรไทย และห้องสมุดรัฐสภาอีกด้วย นอกจากนี้ คณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเยอรมนีได้พบปะแลกเปลี่ยนกับผู้แทนคณะกรรมาธิการการต่างประเทศประจำสภาผู้แทนราษฎร ดร. ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศ และคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร.ต.อ. ดร. วิเชียร ตันศิริคงคล  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล คุณนิติพล ผิวเหมาะ  คุณศนิวาร บัวบาน คุณ.พนิดา มงคลสวัสดิ์  กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยและหัวหน้าผู้ประสานงานและที่ปรึกษาประจำสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ คุณพลนชชา จักรเพ็ชร ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ดร. ธเนษฐ เศรษฐาวาณิช และตัวแทนจากภาคประชาสังคม พญ. ชุตินาถ ชินอุดมพร โดยหัวข้อที่หารือครอบคลุมหลากหลายประเด็น เช่น นโยบายเรือธงของรัฐบาล ความท้าทายของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัล การปรับปรุงพัฒนาสวัสดิการของรัฐ นโยบายความปลอดภัยของผู้รับบริการสาธารณะสุข ตลอดจนโอกาสในการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองของไทยและการวิเคราะห์การเลือกตั้งทั่วโลกที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 พร้อมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทย

มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประเทศไทยได้ต้อนรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นายกุนเธอร์ คริชเบาวม์ และนายคาร์สเทน บูคโฮลซ์ หัวหน้าคณะทำงานของ สส. คริชเบาวม์ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ในระหว่างวันที่ 25-29 มีนาคม 2567 เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยในการเยือนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามการสร้างเสริมความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศไทย เยอรมนี และสหภาพยุโรปในด้านความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี โดยเฉพาะประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าในการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป หรือ EU-Thailand Free Trade Agreement (EU-Thailand FTA) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

 

การสร้างเสริมความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี

 

ในการมาเยือนครั้งนี้ สส. คริชเบาวม์ และนายบูคโฮลซ์ ได้เข้าพบกับนายฮันส์-อูริค ซืดเบ็ค อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยพร้อมด้วยนางสาวลิกกิ-ลี พิทเซ่น เลขานุการเอกฝ่ายการเมืองและวัฒนธรรม เพื่อหารือแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศไทย รวมถึงความท้าทายต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศในด้านการเมือง ความมั่นคง การค้า-การลงทุน และสังคม นอกจากนี้ยังได้พบกับเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ฯพณฯ นายเดวิด เดลี เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศไทย โอกาสและความท้าทายสำหรับความร่วมมือต่างๆ ในอนาคต เช่น การค้าและการลงทุนในบริบทของความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปิดตลาดสินค้าและบริการต่างๆ (Market access) และความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล

 

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

 

ในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สส. คริชเบาวม์ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อหัวข้อ การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป โดยได้เข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนหารือกับหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อรับทราบถึงแนวทาง ความพร้อม ผลประโยชน์ โอกาสและความท้าทายต่อการลงทุนและการค้าในอนาคตระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป ทั้งนี้ สส. คริชเบาวม์ และคณะได้พบกับประธานหอการค้าไทย-เยอรมัน นายมิชาเอล เวลเซอร์ ผู้อำนวยการบริหารหอการค้าไทย-เยอรมัน ดร. โรลันด์ ไวน์ และผู้ประกอบการบริษัทสัญชาติเยอรมันหลากหลายแห่งที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย โดยมีการเน้นย้ำว่าหากการเจรจา FTA นี้บรรลุผลสำเร็จจะส่งผลให้เกิดการลดอัตราภาษีซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออก และเศรษฐกิจของไทยจะมีความคล่องตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น ในด้านการลงทุน การเข้าเป็นสมาชิกองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) จะทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับการปรับเปลี่ยนจำนวนมากซึ่งร่วมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเก็บภาษีขั้นต่ำ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อนโยบายการยกเว้นภาษีระยะยาวให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย นอกจากนี้การส่งแรงงานที่มีทักษะจากประเทศไทยไปยังตลาดต่างประเทศยังมีความท้าทายหลายประการ อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งคือทักษะทางภาษาอังกฤษที่จำกัดในหมู่คนงานไทยจำนวนมาก ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำคัญสำหรับโอกาสในการทำงานในต่างประเทศ หรือในบริษัทข้ามชาติต่างๆ

 

นอกจากนี้ สส. คริชเบาวม์ได้เข้าพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์เพื่อหารือแลกเปลี่ยนในประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ โดยได้รับทราบถึงภาพรวมภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจไทย ซึ่งประสบความท้าทายด้านแรงงานในภาคเกษตรกรรมที่มีจำนวนมาก แต่สร้างผลผลิตมวลรวมของประเทศได้น้อย ในการแก้ไขปัญหาข้างต้น รัฐบาลไทยได้วางแผนที่จะปรับเปลี่ยนการกระจายแรงงานกลุ่มดังกล่าวไปสู่ภาคการผลิตที่มีประสิทธิผลมากขึ้นผ่านการอัพสกิล รีสกิลให้กับแรงงาน รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาในโรงเรียนฝึกอาชีพเพื่อผลิตแรงงานที่มีทักษะต่อไป นอกจากนี้รัฐบาลยังวางแผนช่วยเหลือเกษตรกรให้ปรับตัวเข้ากับเทรนด์ตลาดอาหารโลกในปัจจุบัน เช่น อาหารที่ทำจากพืช (plant-based products) หรืออาหารวีแกน (vegan food) ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ทางการไทยยังมุ่งหวังจะใช้ FTA ที่จะเกิดขึ้นในการส่งเสริมต่อยอดการส่งออกทางวัฒนธรรม (cultural export) ซึ่งจะสอดคล้องไปกับนโยบายซอฟท์ พาวเวอร์ (soft power) ที่เป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาล ประเทศไทยเน้นย้ำว่าจะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานต่างๆ ตามแบบฉบับสากลทั้งในด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือสิทธิแรงงาน เป็นต้น โดยทางสหภาพยุโรปได้แสดงความต้องการให้ไทยลดกฏเกณฑ์ด้านการเงินต่างๆ (financial regulations) ซึ่งรวมถึงเรื่องสถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร และบริษัทประกันภัย เพื่อให้บริษัทสัญชาติยุโรปสามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างเท่าเทียม แม้จะยังมีความท้าทายในหลากหลายมิติ ประเทศไทยยังคงเป็นผู้เล่นที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

 

สส. คริชเบาวม์ และนายบูคโฮลซ์ได้เข้าร่วมวงเสวนาหัวข้อ “การเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ: มุมมองของยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อทิศทางภาวะปกติใหม่ในห่วงโซ่อุปทานโลก” ร่วมกับผศ.ดร. สินีนาฏ เสริมชีพ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการบริหาร UN-Global Compact Network Thailand (UN-GCNT) เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 และสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบโดยตรง กล่าวคือมีความเปราะบางมากขึ้น จึงเป็นที่มาให้ยุโรปเห็นความสำคัญของการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมกับประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และพยายามลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีน เยอรมนีเล็งเห็นความสำคัญของการดำเนินแนวทางที่หลากหลายเพราะจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ โดยเน้นย้ำว่า FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปจะสามารถช่วยกระจายโอกาสทางการค้าของทั้งสองประเทศ และจะทำให้ทั้งเยอรมนีและไทยมีอิสระและความมั่นคงทางการค้ามากขึ้นท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็เล็งเห็นถึงข้อดีและข้อเสียของความก้าวหน้าของกลุ่มอาเซียนในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังกล่าวถึงผลกระทบจากการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีน และผลของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงเน้นย้ำความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินการที่ยั่งยืนเพื่อรักษาระบบห่วงโซ่อุปทาน ในวงเสวนายังมีการกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องลดการผลิตสินค้าจำนวนมากที่มีราคาถูก เนื่องจากสินค้าเหล่านี้ไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังทำให้เกิดการจ้างงานราคาต่ำ ซึ่งทำให้ประเทศติดกับดักความจนอีกด้วย (สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มของงานเสวนาดังกล่าวนี้ได้ที่นี่)

 

ความท้าทายทางการเมืองของไทยท่ามกลางการเมืองโลก

 

สส. คริชเบาวม์และคณะได้เข้าพบผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ฯพณฯ สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว และได้รับทราบถึงความเป็นมาของสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ซึ่งในเร็วๆ นี้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบันกำลังจะหมดวาระ และจะมีการเลือกตั้งสว. ชุดใหม่ที่มาจากหลากหลายกลุ่มอาชีพ โดย สว. ชุดใหม่ที่จะเข้ามารับตำแหน่งนี้จะมีอำนาจจำกัด กล่าวคือ จะไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส. ได้อีก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำว่าประเทศไทยกำลังกลับสู่วิถีทางประชาธิปไตยที่มั่นคงมากขึ้นภายใต้การทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ ในส่วนของการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป ประเทศไทยต้องการเห็นสหภาพยุโรปปฏิบัติต่อไทย และกลุ่มประเทศอาเซียนในฐานะหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน  และหวังว่าการเจรจานี้จะสำเร็จได้ในเร็ววัน โดยผลลัพธ์ของ FTA จะยังประโยชน์ให้กับทั้งไทย เยอรมนี และสหภาพยุโรป เนื่องจากในปัจจุบัน หลายประเทศกำลังสนใจที่จะย้ายห่วงโซ่อุปทานมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศยังได้สอบถามและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ สส. คริชเบาวม์ในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ เช่น สงครามยูเครน-รัสเซีย และการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ที่นำโดยฮามาส

 

นอกจากนั้น ในการพบปะกับตัวแทนที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร มีการพูดคุยเรื่องบทบาทการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ และการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำงานแบบบูรณาการของหลายๆ กระทรวง หรือหน่วยงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเจรจา และเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศไทยตามข้อตกลง นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนเรื่องนโยบายพลังงาน และการผลิต โดยมุ่งประเด็นไปที่อัตราการใช้พลังงานทดแทนที่ยังค่อนข้างต่ำในประเทศไทย และตัวเลือกการใช้พลังงานสะอาด ทั้งนี้ประเทศไทยมีการซื้อก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ แต่เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมาร์ทำให้ไทยต้องมองหาทางเลือกอื่นทดแทน เช่น กัมพูชา ในช่วงท้าย ทั้งสองฝ่ายได้มีการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินนโยบายเรือธงต่างๆ ของรัฐบาลซึ่งอาจจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

 

นอกจากนี้ คณะของ สส. คริชเบาวม์ยังได้พบปะกับตัวแทนจากภาคประชาสังคม และแลกเปลี่ยนกันในหลากหลายประเด็น ได้แก่ ข้อกังวลต่อเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากชุดเดิมที่จะกำลังจะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2567 เนื่องจากยังมีความคลุมเครือในหลายๆ ประเด็น เช่น ขั้นตอนการรับสมัคร หลักเกณฑ์/วิธีการแนะนำตัวผู้สมัครที่ถูกต้องตามที่กฎหมายเลือกตั้งกำหนด และการจัดการการเลือกตั้งในระดับต่างๆ เป็นต้น สถานการณ์สิทธิมนุษยชนหลังจากที่รัฐบาลใหม่ได้เข้ารับตำแหน่ง การรับคำร้องกรณียุบพรรคก้าวไกล และประเด็นทางกฏหมายอื่นๆ  เช่น กฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฏหมายแรงงาน กฎหมายควบคุมการก่อสร้างและสาธารณูปโภค และยังรวมไปถึงประเด็นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ให้เหมาะสมกับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยอีกด้วย

 

การส่งเสริมประชาธิปไตย ระบบนิติรัฐ และการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

ในโอกาสนี้ คณะ สส. คริชเบาวม์ได้เข้าเยี่ยมคารวะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน และได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันหลากหลายประเด็น เช่น การมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ความร่วมมือทางการศึกษาและงานวิจัย การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติในการติดตาม ผลักดัน และอำนวยความสะดวกให้การเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปประสบผลสำเร็จ โดยการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ตอกย้ำความพยายามอย่างต่อเนื่องในการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีและส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ หลังจากนั้น คณะ สส. คริชเบาวม์ได้มีโอกาสเยี่ยมชมห้องประชุมพระสุริยันที่ใช้สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และได้เรียนรู้ระบบการโหวตแสดงตนเพื่อนับองค์ประชุม

 

นอกจากการเข้าเยี่ยมคารวะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 แล้ว สส. คริชเบาวม์และนายบูคโฮลซ์ยังได้พบปะกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ได้แก่ สส. จาตุรนต์ ฉายแสง (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงยุติธรรม) สส. ฐิติมา ฉายแสง (ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-เยอรมัน) และ สส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ (รองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน คนที่ 1) โดยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนในหลากหลายหัวข้อ เช่น กระบวนการทางรัฐสภาเปรียบเทียบระหว่าง 2 ประเทศ วาระการประชุมสภาและการจัดสรรเวลาทำงานของ สส. ในการทำหน้าที่ทั้งในสภาและการลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากประชาชน ความแตกต่างในวัฒนธรรมหรือลักษณะการอภิปรายหรือการเตรียมตัวอภิปรายของ สส. รุ่นเก่า และสส.รุ่นใหม่ และการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษา ซึ่งประเทศไทยได้จัดสรรงบประมาณไปยัง 2 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

ท้ายสุด สส. คริชเบาวม์ได้พบปะกับคณาจารย์และนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี แผนกสวิส  (RIS Swiss Section Deutschsprachige Schule Bangkok) และได้นำเสนอสั้นๆ ในหัวข้อบทบาทของนักการเมืองในประเทศเยอรมนี โดยกล่าวถึงภาพรวมของการเมืองและนโยบายด้านต่างๆ ของเยอรมนีซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกรอบการทำงานของสหภาพยุโรป โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในการสร้างโอกาสและสังคมที่เท่าเทียม การนำเสนอในครั้งนี้เป็นไปเพื่อตอบคำถามต่างๆ ที่นักเรียนได้เตรียมไว้ โดยสส.คริชเบาวม์ได้ยกตัวอย่างกลไกการสนับสนุนที่ส่งเสริมการเคลื่อนไหวทางสังคม และการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศเยอรมนีที่ไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้กับผู้เรียน นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงภาพรวมการเมืองโลก และสถานการณ์สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย พร้อมทั้งกล่าวสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนและคนรุ่นใหม่เดินตามความฝันในการประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป

ผู้เผยแพร่แอสเสท

ติดต่อทีมงาน

Dr. Céline-Agathe Caro

Dr

ผู้แทนประจำประเทศไทย

Celine.Caro@kas.de +66 (0) 2 714 1207 +66 2 714 1307

comment-portlet

ผู้เผยแพร่แอสเสท