รายงานกิจกรรม
ผู้แทนขององค์กรวิชาการ การเมืองการปกครอง และประชาสังคมต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและจากเยอรมนี ได้เข้าร่วมให้ความรู้และอภิปรายถึงสาเหตุ ลักษณะเฉพาะของสงครามโลกครั้งที่ 1 และผลกระทบที่มีต่อทั้งสองประเทศ รวมไปถึงพัฒนาการทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ในงานนี้ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร. มาร์ติน เบาไมส์เตอร์ ผู้อำนวยการสถาบันประวัติศาสตร์เยอรมันแห่งกรุงโรม เข้าร่วมเป็นวิทยากรด้วย
ศาสตราจารย์เบาไมส์เตอร์ได้บรรยายให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทราบเกี่ยวกับระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้รับการเปิดเผยมาก่อน และผลกระทบของความรุนแรงดังกล่าวที่มีต่อสาธารณรัฐไวมาร์ และนาซีเยอรมัน ต่อจากนั้น ศาสตราจารย์ ดร. พรสรรค์ วัฒนางกูร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฮนนิง กลาเซอร์ ซีพีจี และศาสตราจารย์ ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้บรรยายให้ความรู้เพิ่มเติมถึงวิกฤตการณ์ต่างๆ ในทวีปยุโรปก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 1 จะปะทุขึ้น รวมทั้งผลสืบเนื่องของสงครามที่มีต่อสาธารณรัฐไวมาร์ของเยอรมนีด้วย ในช่วงต่อมา ดร. ชเตฟาน เฮล แห่งสำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และดร. เตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้บรรยายเกี่ยวกับบทบาทของประเทศไทยระหว่างมหาสงครามและภายในองค์การสันนิบาตชาติ ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920) นอกจากนั้น ยังมีดร. คัทธิยากร ศศิธรามาศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้บรรยายถึงบทบาทของสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาในช่วงมหาสงคราม ทั้งนี้ ก่อนหน้างานสัมมนา 1 วัน ทางผู้จัดได้จัดฉายภาพยนตร์เรื่อง “Westfront 1918” ให้กับผู้สนใจได้รับชม พร้อมช่วงเสวนากับศาสตราจารย์เบาไมส์เตอร์หลังการชมภาพยนตร์ด้วย
สืบเนื่องจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ยังเป็นเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจศึกษาน้อยมากในประเทศไทย การสัมมนาวิชาการครั้งนี้จึงจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการค้นคว้าวิจัยในหัวข้อดังกล่าวมากขึ้น เห็นได้จากความสนใจและการตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ อย่างกระตือรือร้นของผู้เข้าร่วมงาน คำตอบและบทวิเคราะห์ที่เกิดขึ้นในงานสัมมนาได้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุแห่งความอ่อนแอและการล่มสลายของสาธารณรัฐไวมาร์ในเยอรมนี รวมทั้งนำเสนอบทเรียนของสงครามที่เป็นเหมือนแสงสว่างให้กระบวนการพัฒนาสังคมและประชาธิปไตยในทวีปยุโรป และโดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งจะสามารถนำผลของเหตุการณ์ดังกล่าวมาวิเคราะห์และพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยในประเทศได้ในโอกาสต่อไป